ฉันจะเอาน้ำมาให้ แล้วจะเปลี่ยนชื่อจาก ‘นครนายก’
เป็น ‘นครนาสมบูรณ์’ ให้ได้

จะได้ไม่ลืมกัน

ชื่อจังหวัด ‘นครนายก’ ไม่ได้แปลว่าจังหวัดนี้มีคนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มาจากสภาพที่ดินของจังหวัดนี้ที่เคยแห้งแล้ง เสื่อมโทรม คุณภาพดินต่ำ ปลูกข้าวไม่ได้ จนทางการต้อง ’ยก’ ภาษีที่ ’นา’ ให้ชาวบ้านที่นี่ เรียกว่า ‘นครนายก’

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทราบเรื่องนี้ดี จึงคิดหาทางช่วยเหลือชาวนาในนครนายกมาตลอด ซึ่งจากการศึกษาทรงพบว่าดินที่นี่เปรี้ยวเหมือนดินพรุที่จังหวัดนราธิวาส อีกทั้งน้ำในแม่น้ำนครนายกที่ไหลจากเขาใหญ่มาบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรีจนกลายเป็นแม่น้ำบางปะกงนั้น มีปริมาณมากถึง 1,540 ล้านลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว แต่ 90% ของมวลน้ำมหาศาลนั้นกลับไหลลงทะเลโดยไร้ประโยชน์ แถมยังทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมีพระราชดำริสร้างแก้มลิงเพื่อชาวบ้านจะได้มีน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน แถมยังช่วยป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาดินเปรี้ยวไปพร้อมๆ กัน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่า 2 ตัว รวมถึงเมื่อคราวที่ท่านเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร ในปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงมีรับสั่งกับชาวบ้านว่า…

อย่าขายที่นะ เพราะข้าวเป็นอาหารที่ต้องกินกัน เก็บที่นาเอาไว้ เดี๋ยวฉันจะเอาน้ำมาให้ แล้วจะเปลี่ยนชื่อจาก ‘นครนายก’ เป็น ‘นครนาสมบูรณ์’ ให้ได้ ”

แต่ถึงจะมีพระราชดำริมานานหลายปี แต่โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลก็ใช้เวลาอีกหลายปีถึงเริ่มดำเนินการสร้าง ในหลวงฯ ทรงห่วงใยตั้งแต่ที่ตั้งของตัวเขื่อน โดยมีพระราชดำริย้ำว่า ต้องไม่สร้างบนพื้นที่ป่าอุทยาน หรือป่าสงวนแห่งชาติ ที่สำคัญต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยตัวเขื่อนต้องมีความสูงมาก เพื่อให้จุน้ำที่ไหลลงมาได้อย่างเต็มที่

ปวงประชาเป็นสุขศานต์

ในหลวงฯ ทรงใส่พระทัยโครงการนี้มาก แม้จะเพิ่งหายประชวรและใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ท่านก็ยังเสด็จฯ ไปวางศิลาฤกษ์เปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2544

ในหลวงฯ ทรงอธิบายว่า เขื่อนนี้ใช้หลักการสร้างที่แหวกแนว เพราะนอกจากจะสร้างด้วยเทคนิคสมัยใหม่ที่สุดแล้ว ยังเป็นเขื่อนที่สร้างใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งปกติแล้วหาที่สร้างได้ยากลำบากมาก รวมทั้งมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านน้อยมาก ผิดกลับโครงการอื่นๆ ที่สำคัญพอสร้างแล้วใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยเฉพาะประเทศไทยไม่เคยมีระบบชลประทานในภาคกลางที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน แม้แต่อุปกรณ์การสร้างเขื่อน ด้วยความที่ตัวเขื่อนสูงถึง 93 เมตรและยาวถึง 2.5 กิโลเมตร หากสร้างไม่ดีก็จะพังทลายได้ ท่านจึงโปรดฯ ให้ใช้คอนกรีตมาผสมกับวัสดุเหลือทิ้งอย่างกากถ่านหิน จนได้วัสดุที่มีความทนทานมาก

หลังสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลได้สำเร็จและเริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2547 เขื่อนแห่งนี้ก็ช่วยจัดการน้ำและปัญหาดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด แม้จะยังใช้ชื่อว่าจังหวัดนครนายกเหมือนเดิม แต่นาข้าวของที่นี่ก็อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีความสุข จนแทบลืมความหมายดั้งเดิมของชื่อนครนายกไปหมดแล้ว…

ที่มาของเรื่องราว

เรียบเรียงจาก พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 และวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554, บทสัมภาษณ์ ศรีนิตย์ บุญทอง อดีตรองเลขาธิการ กปร. วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559 และ พล.ต.พยงค์ บุญมา อดีตรองเจ้ากรมแผนที่ทหาร วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หลีกหนีความวุ่นวาย
ค้นพบจังหวะชีวิตที่พอดี

ยังมีความตั้งใจดีๆ และเรื่องราวอีกมากมายที่เราอยากเล่าให้คุณฟัง แวะมาเยี่ยมเยียน หรือพูดคุยกัน เราก็ยินดี เพราะมิตรภาพที่ดีที่สุด เริ่มต้นจากการทักทายกันเสมอ